วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

น้ำส้มควันไม้

     น้ำส้มควันไม้ ควันที่เกิดจากการเผาถ่านในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่านเมื่อทำให้เย็นลงจนควบแน่น
แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ของเหลวที่ได้นี้เรียกว่า น้ำส้มควันไม้ มีกลิ่นไหม้ ส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดอะซิติก
มีความเป็นกรดต่ำ มีสีน้ำตาลแกมแดง นำน้ำส้มควันไม้ที่ได้ทิ้งไว้ในภาชนะพลาสติกประมาณ 3 เดือน
ในที่ร่ม ไม่สั่นสะเทือนเพื่อให้น้ำส้มควันไม้ที่ได้ตกตะกอนและแยกตัวเป็น 3 ชั้น คือ น้ำมันเบา (ลอยอยู่ผิวน้ำ)
น้ำส้มไม้ และน้ำมันทาร์ (ตกตะกอนอยู่ด้านล่าง) แยกน้ำส้มควันไม้มาใช้ประโยชน์ต่อไป

ประโยชน์และการนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์     น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆ มากมาย เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรจะมีคุณสมบัติ เช่น เป็นสารปรับปรุงดิน สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสารเร่งการเติบโตของพืช นอกจากนี้ มีการนำน้ำส้มควันไม้
ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น ใช้ผลิตสารดับกลิ่นตัว ผลิตสารปรับผิวนุ่ม ใช้ผลิตยารักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น
    เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ดังนั้นก่อนที่จะนำไปใช้ควรจะนำมาเจือจางให้เกิดสภาวะที่เหมาะสม
กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ดังนี้

    อัตราส่วน 1: 20 (ผสมน้ำ 20 เท่า) พ่นลงดินเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นประโยชน์และแมลงในดิน
ซึ่งควรทำก่อนการเพาะปลูก 10 วัน
    อัตราส่วน 1: 50 (ผสมน้ำ 50 เท่า) พ่นลงดินเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำลายพืช หากใช้ความเข้มข้นที่มากกว่านี้
รากพืชอาจได้รับอันตรายได้
    อัตราส่วน 1: 100 (ผสมน้ำ 100 เท่า) ราดโคนต้นไม้รักษาโรครา และโรคเน่า รวมทั้งป้องกันแมลงมาวางไข่
    อัตราส่วน 1: 200 (ผสมน้ำ 200 เท่า) พ่นใบไม้รวมทั้งพื้นดินรอบๆ ต้นพืชทุกๆ 7-15 วัน เพื่อขับไล่แมลงและ
ป้องกันเชื้อรา และรดโคนต้นไม้เพื่อเร่งการเจริญเติบโต
    อัตราส่วน 1: 500 (ผสมน้ำ 500 เท่า) พ่นผลอ่อน หลังจากติดผลแล้ว 15 วัน ช่วยขยายผลให้โตขึ้นและพ่นอีกครั้ง
ก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน เพื่อเพิ่มน้ำตาลในผลไม้
    อัตราส่วน 1: 1,000 (ผสมน้ำ 1,000 เท่า) เป็นสารจับใบ เนื่องจากสารเคมีสามารถออกฤทธิ์ได้ดีในสารละลาย
ที่เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยเสริมประสิทธิภาพของสารเคมีทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีมากกว่าครึ่งด้วย

ลักษณะสีของน้ำส้มควันไม้ที่ผสมน้ำในอัตราส่วนต่างๆ

การนำน้ำส้มควันไม้ ไปใช้ด้านอื่นๆ
     นอกจากการนำไปใช้ทางด้านเกษตรและปศุสัตว์แล้ว ยังสามารถนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ด้านอื่นๆ ได้อีก เช่น
1.ความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้รักษาแผลสด แผลถูกน้ำร้อน รักษาโรคน้ำกัดเท้าและเชื้อราที่ผิวหนัง
2.น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำ 20 เท่า ราดทำลายปลวดและมด
3.น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำ 50 เท่า ใช้ป้องกันปลวก มด และสัตว์ต่างๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง
4.น้ำส้มควันไม้ผสมน้ำ 100 เท่า ใช้ฉีดพ่นถังขยะเพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงวัน ใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ ห้องครัวและ
  บริเวณชื้นแฉะ

ข้อควรระวังในการ ใช้น้ำส้มควันไม้

1.ก่อนนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องทิ้งไว้จากการกักเก็บก่อนอย่างน้อย 3 เดือน
2.เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ควรระวังอย่าให้เข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
3.น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ปุ๋ยแต่เป็นตัวเร่งปฎิกิริยา ดังนั้นการนำไปใช้ทางการเกษตรจะเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพ
  ให้กับพืชแต่ไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยได้
4.การใช้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดิน ควรทำก่อนเพาะปลูกอย่างน้อย 10 วัน
5.การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องผสมน้ำให้เจือจางตามความเหมาะสมที่จะนำไปใช้
6.การฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อให้ดอกติดผล ควรพ่นก่อนที่ดอกจะบาน หากฉีดพ่นหลังจากดอกบานแมลงจะไม่เข้า
  มาผสมเกสร เพราะกลิ่นฉุนของน้ำส้มควันไม้และดอกจะร่วงง่าย
เตาเผาถ่าน 200 ลิตร
     
    เตาเผาถ่าน 200 ลิตร เป็นเตาที่มีประสิทธิภาพสูง เตาประเภทนี้อาศัยความร้อนไล่ความชื้นในเนื้อไม้
ที่มีอยู่ในเตา ทำให้ไม้กลายเป็นถ่าน หรือเรียกว่า
กระบวนการคาร์บอนไนเซชั่นนอกจากนี้โครงสร้างลักษณะปิดทำให้สามารถควบคุมอากาศได้ จึงไม่มีการลุกติดไฟของเนื้อไม้ ผลผลิตที่ได้จึง
เป็นถ่านที่มีคุณภาพ ขี้เถ้าน้อยและผลพลอยได้จากกระบวนการเผาถ่าน อีกอย่างหนึ่งคือ น้ำส้มควันไม้ที่สามารถ
นำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้
การนำไม้เข้าเตาเผาถ่าน

1.นำไม้ที่ต้องการเผาถ่าน มาจัดแยกกลุ่ม
  ตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของไม้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
    -ขนาดเล็ก
    -ขนาดกลาง
    -ขนาดใหญ่
2.เรียงไม้ที่มีขนาดเล็กไว้ด้านล่างของเตา
  ขนาดใหญ่ไว้ด้านบน โดยวางทับไม้หมอนยาวประมาณ
  30-40เซนติเมตร การเรียงไม้นี้มีความสำคัญมาก
  เนื่องจากอุณหภูมิในเตา ขณะเผาถ่านไม่เท่ากัน
  โดยอุณหภูมิด้านล่างเตาจะต่ำ
  ส่วนอุณหภูมิที่อยู่ด้านบนเตาจะสูงกว่า
ขั้นตอนการเผาถ่าน
ช่วงที่ 1 ไล่ความชื้น หรือคายความร้อน
      เริ่มจุดไฟเตา บริเวณที่อยู่หน้าเตา ใส่เชื้อเพลิงให้ความร้อนกระจายเข้าสู่เตาเพื่อไล่อากาศเย็นและ
ความชื้นที่อยู่ในเตาและในเนื้อไม้ ควันที่ออกมาจากปล่องควันจะเป็นสีขาว ควันจะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็น
กลิ่นของกรดประเภทเมธาทอลที่อยู่ในเนื้อไม้ อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควันประมาณ 70 - 75 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิภายในเตาประมาณ 150 องศาเซลเซียส ใส่เชื้อเพลิงต่อไป ควันสีาวตรงปล่องควันจะเพิ่มขึ้น
อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควันประมาณ 70-75 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในเตาประมาณ
200-250 องศาเซลเซียส ควันมีกลิ่นเหม็นฉุน

ช่วงที่ 2 เมื่อไม้กลายเป็นถ่าน หรือ ปฏิกิริยาคลายความร้อน
      เมื่อเผาไปอีกระยะหนึ่ง ควันสีขาวจะเริ่มบางลง และเปลี่ยนเป็นสีเทา อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควัน
ประมาณ 80-85 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในเตาประมาณ 300-400 องศาเซลเซียส ไม้ที่อยู่ในเตา
จะคายความร้อนที่สะสมเอาไว้เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิในเตาจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ค่อยๆ ลดการป้อน
เชื้อเพลิงหน้าเตาจนหยุดการป้อนเชื้อเพลิง และเริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ หลังจากการหยุดการป้อนเชื้อเพลิง
หน้าเตา จะต้องควบคุมอากาศโดยการหรี่หน้าเตาหรือลดพื้นที่หน้าเตาลงให้เหลือช่องพื้นที่หน้าเตา
ประมาณ 20-30 ตารางเซนติเมตร สำหรับให้อากาศเข้า เพื่อรักษาระดับของอุณหภูมิในเตาไว้ให้นานที่สุด
และยืดระยะเวลาการเก็บน้ำส้มควันไม้ให้นานที่สุด โดยช่วงที่เหมาะสมกับการเก็บน้ำส้มควันไม้ควรมีอุณหภูมิ
บริเวณปากปล่องควัน ประมาณ 85-120 องศาเซลเซียส เนื่องจากเป็นช่วงที่สารในเนื้อไม้ถูกขับออกมา
จากนั้นควันก็เปลี่ยนจากควันสีเทาเป็นสีน้ำเงิน จึงหยุดเก็บน้ำส้มควันไม้ อุณหภูมิบริเวณปากปล่องควัน
ประมาณ 100-200 องศาเซลเซียส อุณหภูมิภายในเตาประมาณ 400-450 องศาเซลเซียส

ช่วงที่ 3 ช่วงทำถ่านให้บริสุทธิ์
      ขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่ไม้จะเปลี่ยนเป็นถ่าน ต้องทำการเพิ่มอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว โดยการเปิดหน้าเตา
ประมาณ 1 ใน 3 ของหน้าเตาทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เมื่อควันสีน้ำเงิน เป็นเสีฟ้า แสดงว่าไม้เริ่มเป็นถ่านใกล้หมด
จากนั้นควันสีฟ้าอ่อนลงและจะกลายเป็นควันใสแทน เมื่อมีควันใสเริ่มทำการปิดหน้าเตา โดยใช้ดินเหนียวปิดรอยรั่ว
และรอยต่อ จากนั้นทำการปิดปล่องควันให้สนิทและอุดรูรั่วทั้งหมด ไม่ให้อากาศภายนอกผ่านเข้าไปได้

ช่วงที่ 4 ช่วงทำการให้ถ่านในเตาเย็นลง

      เกลี่ยดินบนเตาออกให้เห็นหลังเตา เพื่อระบายความร้อนในเตา จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน
หรือประมาณ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ถ่านดับสนิท แล้วจึงเริ่มการเปิดเตาเพื่อนำถ่านออกจากเตา และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

การทำน้ำส้มควันไม้

รวมสูตรปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำหมักชีวภาพ

รวมสูตรปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำหมักชีวภาพ

สูตรที่ 1 คุณสมยศ รักษาวงศ์
ส่วนผสม : ผัก ผลไม้ หรือเศษอาหารเหลือทิ้ง 1 ส่วน + กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน
วิธีผสม : ผสมส่วนผสมเข้าด้วยกันทิ้งไว้ 7 วัน (น้ำหมักจะเริ่มเป็นสีน้ำตาลไหม้ มีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว ถ้าน้ำหมัก มีสีน้ำตาลอ่อน และกลิ่นบูดแสดงว่าใส่น้ำตาลไม่พอให้เพิ่มกากน้ำตาลลงไปอีก กลิ่นบูดจะค่อยๆ หายไปหมักต่อไปเรื่อยๆ) ตวงน้ำหมักใส่ขวดหรือภาชนะเก็บในที่มืด ในห้องธรรมดาจะเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี
การใช้ประโยชน์
1. ปุ๋ยชีวภาพแห้ง
ส่วนผสม : เศษวัสดุจากพืช 10 ปี๊บ + แกลบ 10 ปี๊บ + มูลสัตว์ 10 ปี๊บ + รำอ่อน 1 ปี๊บ + น้ำหมักพืช 1 ช้อนแกง + กากน้ำตาล 4 ช้อนแกง + น้ำ 1 ถังฝักบัว (18 ลิตร)
วิธีผสม : นำส่วนผสมแห้งทั้งหมดคลุกให้เข้ากันนำน้ำผสมน้ำหมักพืชและกากน้ำตาล รดให้ทั่ว ตรวจสอบความชื้นของปุ๋ย โดยกำไว้ในมือ เมื่อปล่อยมือออกจะจับเป็นก้อนหลอมๆ พอแตะก้อนแล้วแตกเป็นใช้ได้ แล้วเกลี่ยกองปุ๋ยให้เสมอกันให้สูงจากพื้นไม่เกิน 30 ซ.ม. คลุมด้วยกระสอบป่านให้มิดชิด ถ้าผสมปุ๋ยในช่วงเช้า ตอนเย็นให้ทดสอบดู โดยสอดมือเข้าไปในกองปุ๋ยจะร้อนมาก และในวันรุ่งขึ้นจะเริ่มมีเส้นใยขาวๆ ปรากฏบนผิวกองปุ๋ยแสดงว่า จุลินทรีย์เริ่มทำงานทิ้งไว้ 3 วัน แล้วเปิดกระสอบป่านออกคลุกกับปุ๋ยให้ทั่วอีกครั้งหนึ่ง แล้วปิดกระสอบไว้ตามเดิม อีก 3 - 4 วันต่อมา ให้ทดสอบดูอีก ถ้าปุ๋ยมีความเย็นถือว่า ใช้ได้ ถ้ายังมีความร้อนอยู่ให้ทิ้งไว้ต่อไปอีกจนกว่าจะเย็นจึงสามารถนำไปใช้ได้
2. ปุ๋ยคอกหมัก
วิธีทำ : นำมูลสัตว์ แกลบเผา และรำละเอียดมาผสม เข้าด้วยกัน นำน้ำหมักพืช และกากน้ำตาลผสมน้ำรดกองปุ๋ยที่ผสมคลุกให้ทั่วให้มีความชื้นระดับเดียวกับการทำปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยแห้ง) เกลี่ยกองปุ๋ยบนพื้นให้หนาไม่เกิน 15 ซ.ม. คลุมด้วยกระสอบป่าน ทิ้งไว้ 3 - 5 วัน โดยไม่ต้องกลับเมื่อปุ๋ยเย็นลงนำไปใช้ได้
3. สารขับไล่แมลง
3.1) สูตรทั่วไป ส่วนผสม : นำน้ำหมักพืช กากน้ำตาล เหล้าขาว น้ำส้มสายชู อย่างละ 1 ขวด (ขวดกลม) และน้ำสะอาด 10 ขวด
วิธีทำ : ผสมส่วนผสมให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 15 วัน (ควรมีฝาปิดมิดชิด) ระหว่างการหมัก (ช่วง 15 วันแรก) ให้เปิดฝาคนทุกวันเช้า - เย็น เพื่อไม่ให้เป็นตะกอนนอนก้นและเพื่อระบายแก๊สออกครบกำหนดให้นำไปใช้ได้ หัวเชื้อนี้สามารถเก็บได้นาน 3 เดือน โดยไม่ต้องเปิดฝาระบายแก๊สเป็นครั้งคราว
การใช้ประโยชน์ : นำหัวเชื้อยาขับไล่แมลงนี้ไปผสมกับน้ำในอัตราส่วน 5 ช้อนแกง กากน้ำตาล 5 ช้อนแกงผสมกับน้ำ 10 ลิตร จากนั้นนำส่วนผสมไปฉีดพ่นต้นไม้สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง หรือตามความจำเป็น (ใช้บ่อยๆ ได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อพืชและคน) โดยฉีดพ่นในช่วงเย็น สำหรับพืชที่กำลังแตกใบอ่อนให้ใช้ในอัตราส่วนที่เจือจางลงโดยหัวเชื้อที่ผสมน้ำแล้วหากใช้ร่วมกับพืชสมุนไพรต่างๆ เช่น สะเดา ข่า ตระไคร้หอม ยาสูบโดยนำหัวเชื้อยาขับไล่แมลงใส่เพิ่มลงไปอีก 5 ช้อนแกง (ต่อน้ำ 10 ลิตร) จะทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

3.2) สูตรเข้มข้น วิธีทำ : ใช้ส่วนผสมและวิธีทำเหมือนสูตรธรรมดา แต่เพิ่มปริมาณเหล้าขาวเป็น 2 ขวด
การใช้ประโยชน์ : ใช้ฉีดพ่นปราบหนอน และแมลงศัตรูพืชที่ปราบยาก เช่น หนอนกอกลม หนอนชอนใบ ฯลฯ โดยใช้สัดส่วนหัวเชื้อสูตรเข้มข้น 1 แก้ว ต่อน้ำ 200 ลิตร (1 ถังแดง) หรือมากน้อยกว่านี้แล้วแต่ความเหมาะสม หรือใช้กำจัดเหาในศีรษะคน โดยเอาน้ำราดผมให้เปียกแล้วชะโลมด้วยหัวเชื้อสูตรเข้มข้นผสมน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 50 หมักไว้ 30 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด หรือใช้กำจัดเห็บ หมัดในสัตว์เลี้ยง
4. ฮอร์โมนพืช
ส่วนผสม : ประกอบด้วย กล้วยน้ำว้าสุก /ฟักทองแก่จัด /มะละกอสุก อย่างละ 1 ก.ก. น้ำหมักพืช 2 ช้อนแกง กากน้ำตาล 2 ช้อนแกง และน้ำสะอาด 5 ลิตร
วิธีทำ : สับกล้วย ฟักทอง และมะละกอ (ทั้งเปลือกและเมล็ด) ให้ละเอียด (ส่วนแรก) จากนั้นนำน้ำหมักพืช กากน้ำตาล และน้ำสะอาดให้เข้ากัน (ส่วนที่สอง) จากนั้นนำส่วนผสมทั้งสองส่วนมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วบรรจุลงในถุงปุ๋ยโดยหมักไว้ในถังพลาสติกปิดฝาระยะเวลา 7 - 8 วัน
การใช้ประโยชน์ : นำส่วนที่เป็นน้ำจากการหมัก (ในถังพลาสติก) ผสมกับน้ำในอัตราส่วน 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดต้นไม้ในช่วงติดดอกจะทำให้ติดผลดี ส่วนที่เป็นไขมันเหลืองๆ ในถุงปุ๋ย ใช้ทากิ่งตอน กิ่งปักชำ กิ่งทาบ ฯลฯ ช่วยให้แตกรากดี
การประยุกต์ใช้กับพืชการเกษตร
1. ข้าว ในพื้นที่นาข้าว 1 ไร่ ใส่ปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยแห้ง) 200 ก.ก. โดยแบ่งใส่เป็นระยะดังนี้
- ไถ่พรวน หว่านปุ๋ยชีวภาพ 100 ก.ก. (ต่อ 1 ไร่) ให้ทั่ว จากนั้นนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากน้ำหมักพืช 2 แก้ว กากน้ำตาล 2 แก้ว ในน้ำ 200 ลิตร (1 ถังแดง) ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ฉีดพ่นให้ทั่วแล้วไถพรวน ทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ในน้ำหมักพืชทำการย่อยสลายวัชพืชและเร่งการงอกของเมล็ดข้าว เมื่อไถพรวนแล้ว 15 วัน ให้ฉีดพ่นน้ำผสมน้ำหมักพืช และกากน้ำตาล ในอัตราส่วนเท่าเดิมอีกครั้งหนึ่ง แล้วไถกลบเพื่อทำลายวัชพืชให้เป็นปุ๋ยพืชสด ทิ้งไว้อีก 15 วัน แล้วจึงไถคราดเพื่อดำนาต่อไป
- ไถคราด พ่นน้ำหมักพืชผสมกากน้ำตาลและน้ำ อัตราส่วนเท่าเดิมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนไถคราดให้ทั่วเพื่อเตรียมปักดำ
- หลังปักดำ 7-15 วัน ให้หว่านปุ๋ยชีวภาพ 30 ก.ก. ต่อไร่ ฉีดพ่นด้วยน้ำผสมน้ำหมักพืชในอัตราส่วนน้ำ 1 ถังแดงต่อน้ำหมักพืช และกากน้ำตาลอย่างละ 1 แก้ว
- ข้าวอายุ 1 เดือน หว่านปุ๋ยชีวภาพ 30 ก.ก. ต่อไร่ ฉีดพ่นด้วยน้ำผสมน้ำหมักพืชในอัตราส่วนน้ำ 1 ถังแดงต่อน้ำหมักพืช และกากน้ำตาลอย่างละ 1 แก้ว
- ก่อนข้าวตั้งท้องเล็กน้อย หว่านปุ๋ยชีวภาพ 40 ก.ก. ต่อไร่ ฉีดพ่นด้วยน้ำผสมน้ำหมักพืชและกากน้ำตาล อย่างละ 1 แก้ว
- การป้องกันศัตรู ใช้หัวเชื้อยาขับไล่แมลงผสมกับน้ำฉีดพ่นทุก 15 วัน โดยฉีดพ่นในช่วงเช้ามืดหรือช่วงเย็น หรือถ้ามีต้องการป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ ให้เตรียมจากส่วนผสมของยาฉุน 2 - 3 ก.ก. + หนอนตายยาก 1 ก.ก. + น้ำสมสายชู 1 ลิตร + หล้าขาว 1 ขวด + กากน้ำตาล 1 ขวด หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 - 3 วัน แล้วฉีดพ่นในแปลงนาระยะปล่อยน้ำเข้า ช่วงเตรียมดินในอัตราส่วน 40 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
หมายเหตุ : ต่อพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ปุ๋ยชีวภาพเฉลี่ย 200 ก.ก. ในปีแรกที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพอาจต้องใช้ปุ๋ยปริมาณมาก แต่เมื่อดินคืนสภาพสู่ความอุดมสมบูรณ์ดีแล้วปีต่อๆ ไป จะสามารถใช้ปุ๋ยในปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนปริมาณผลผลิตในปีแรกอาจจะไม่เพิ่มกว่าปกติ แต่ในช่วงปีต่อไปๆ ไปปริมาณ ผลผลิตสูงขึ้นเรื่อย ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งการลดต้นทุนค่าปุ๋ย และเพิ่มปริมาณผลผลิต
2. ผักสวนครัว
- โรยปุ๋ยชีวภาพ 2 กำมือ ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร เอาหญ้าหรือฟางแห้งคลุมทับ
- รดด้วยน้ำผสมน้ำหมักพืชในอัตรา 1 ช้อนแกง ต่อน้ำ 10 ลิตร ทิ้งไว้ 7 วัน จึงลงมือปลูก
- โรยปุ๋ยชีวภาพซ้ำรอบๆ ทรงพุ่ม (อย่าให้โดนใบหรือโคนต้น) เดือนละ 1 - 2 ครั้ง
- รดน้ำผสมน้ำหมักพืช อัตราส่วน 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 1 ถังฝักบัว สัปดาห์ ละ 1 - 2 ครั้ง
- ใช้หัวเชื้อยาขับไล่แมลง กากน้ำตาล (เพื่อช่วยจับใบ) ผสมน้ำฉีดพ่นเมื่อมีศัตรูพืชระบาด
3. ไม้ผลและไม้ยืนต้น
วิธีใช้ : ใช้ปุ๋ยชีวภาพรองก้นหลุม จำนวน 2 กำมือ คลุกกับดินก้นหลุมให้เข้ากัน รดด้วยน้ำผสมน้ำหมักพืช (น้ำหมักพืช 1 ช้อน ต่อน้ำ 10 ลิตร) ทิ้งไว้ 7 วัน จึงลงมือปลูกคลุมโคนต้นด้วยเศษใบไม้แห้ง เมื่อต้นไม้ตั้งตัวได้แล้วให้พรวนดิน และโรยปุ๋ยซ้ำรอบทรงพุ่ม ต้นละ 2 ก.ก. ต่อปี พร้อมกับรดด้วยน้ำผสมน้ำหมักพืชเป็นระยะๆ
4. การแก้ปัญหาวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมี
วิธีทำลายวัชพืช : ตัดหรือล้มวัชพืชต่างๆ ให้เกิดรอยช้ำ แล้วโรยปุ๋ยชีวภาพทับลงไปหรือไถพรวน จากนั้นฉีดพ่นซ้ำด้วยน้ำผสมน้ำหมักพืชปริมาณเข้มข้น (น้ำ 10 ส่วน ต่อน้ำหมักพืช 1 ส่วน) โดยใช้วิธีการนี้ก่อนการไถพื้นที่นาหรือใส่ล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน และหลังการเก็บเกี่ยว หากทำติดต่อกัน 3 ปี สภาพดินจะร่วนซุ่ยจนไม่จำเป็นต้องไถพรวนอีกต่อไป
5. การปศุสัตว์
การเลี้ยงสุกร ผสมน้ำหมักพืช 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 ลิตร น้ำสะอาด 100 ลิตร ในภาชนะแล้วปิดฝาให้สนิท หมักทิ้งไว้ 3 วัน จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้
- ทำความสะอาด ให้นำไปฉีดล้างคอกให้ทั่ว จะกำจัดกลิ่นมูลเก่าได้ภายใน 24 ช.ม. หากทำซ้ำทุกสัปดาห์ น้ำล้างคอกนี้จะช่วยบำบัดน้ำเสียตามท่อและบ่อพักให้สะอาดขึ้นด้วย หรือถ้าผสมน้ำหมักพืช 1 ลิตร ต่อน้ำสะอาด 100 ลิตร ฉีดพ่นตามบ่อน้ำ เพื่อกำจัดหนอนแมลงวัน จะเห็นผลใน 1 - 2 สัปดาห์
- ผสมอาหาร ให้ผสมน้ำหมักพืช 1 ลิตร ต่อน้ำสะอาด 5 - 20 ถังแดง (โดยประมาณ) ให้สุกรกินทุกวันจะช่วยให้แข็งแรงมีความต้านทานโรค และป้องกันกลิ่นเหม็นจากมูลสุกรที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย กรณีลูกสุกรที่ท้องเสียให้ใช้น้ำหมักพืช (หัวเชื้อ) 5 ซี.ซี. หยอดเข้าปากจะรักษาอาการได้
หมายเหตุ : กรณีที่เลี้ยงวัว ควาย ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยผสมน้ำหมักพืช กากน้ำตาล และน้ำแล้วรดฟางหรือหัวอาหารให้กิน รวมทั้งใช้ผสมในน้ำให้กินทุกวัน
การเลี้ยงไก่ และสัตว์ปีกอื่นๆ ใช้น้ำหมักพืชผสมน้ำสะอาดให้กินทุกวันจะช่วยให้แข็งแรง ไข่ดก น้ำหนักดีอัตราการตายต่ำและมูลสัตว์ไม่มีกลิ่นเหม็น หากใช้น้ำหมักพืชผสมน้ำฉีดพ่นตามพื้นที่กำจัด กลิ่นแก๊ส และกลิ่นเหม็นจากมูลทุก ๆ 4 วัน และยังช่วยกำจัด การขยายพันธุ์ของแมลงวันทางอ้อมด้วย

สูตรที่ 2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
1. น้ำหมักชีวภาพจากปลา ส่วนผสม : เนื้อปลา น้ำกรดเข้มข้น 3% กากน้ำตาล 20% และหัวเชื้อจุลินทรีย์
วิธีทำ : นำมาผสมรวมกันหมักทิ้งไว้ 1 เดือน นำมากรองกากมาทำปุ๋ย และน้ำไปฉีดพ่น
การใช้ประโยชน์ : ใช้อัตรา 100 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนเหมาะแก่การเจริญเติบโต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี หรือใช้ในนาข้าวช่วงก่อนหว่านข้าวฉีดพ่นพร้อมสารควบคุมวัชพืช อัตรา 100 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร และหลังหว่านข้าว 20 วัน อัตรา 50 - 60 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยเร่งการแตกกอ และเพิ่มจำนวนต้น ต่อกอ รวมทั้งใช้ฉีดพ่นข้าวระยะตั้งท้องและน้ำนมด้วย
2. น้ำหมักชีวภาพจากเศษซากพืช ส่วนผสม : เศษพืช 3 ส่วน น้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล 1 ส่วน
วิธีทำ : นำส่วนผสมรวมกันหมักทิ้งไว้นาน 3 เดือน
การใช้ประโยชน์ : ใช้เป็นปุ๋ยให้กับผัก หรือฉีดพ่นขับไล่แมลง และป้องกันกำจัดโรคบางชนิด
3. น้ำหมักสมุนไพร
3.1 พืชผักสวนครัว
ส่วนผสม : เมล็ดสะเดา 2 ก.ก หัวข่าแก่ 1 ก.ก. ตะไคร้หอม 1 ก.ก. และน้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร
วิธีทำ : นำส่วนผสมมาผสมรวมกัน
การใช้ประโยชน์ : ป้องกันเพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนกระทู้ หนอนคืบ เพลี้ยไฟในถั่วฝักยาว ถั่วพู แค คะน้า ฯลฯ
3.2 สวนไม้ผล
ส่วนผสม : เมล็ดสะเดา 2 ก.ก หัวข่าแก่ 1 ก.ก. ตะไคร้หอม 1 ก.ก. และน้ำหมักชีวภาพ 20 ลิตร
วิธีทำ : นำมาผสมรวมกันทั้งหมดทิ้งไว้ 1 คืน แล้วใช้ผ้ากรองมาใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ : นำน้ำเชื้อที่ได้ 1 ลิตร ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นไม้ผลขณะแตกใบอ่อน ระยะออกดอก และมีผล เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ หนอนแก้วส้ม แมลงวันทอง ด้วงงวงมะพร้าว

สูตรที่ 3 เครือข่ายผัก โครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืน
1. น้ำหมักสมุนไพร
ส่วนผสม : หางไหล บอระเพ็ด หนอนตายยาก ตะไคร้หอม เปลือกสะเดาหรือใบแก่ สาบเสือ ยาสูบ (ก้าน หรือใบสด ใช้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้)
วิธีทำ : นำส่วนผสมมาสับให้ละเอียดใส่ในโองหรือถังใส่น้ำให้ท่วมฝามือ (30 - 50 ลิตร) จากนั้นใส่เหล้าขาว 1 ขวด ตามด้วยหัวน้ำส้ม 150 ซี.ซี. (ถ้าไม่มีใส่ผลมะกรูด หรือมะนาวผ่าซีก 2 ลูก) หากมีกลิ่นเหม็นให้ใส่กากน้ำตาล หมักไว้ 7 วัน สามารถนำไปใช้ได้
การใช้ประโยชน์ : ขับไล่หนอนใย หนอนกระทู้ เพลี้ยอ่อน และป้องกันกำจัดโรคเน่า โรคใบไหม้ในผักบางชนิด
2. ปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรเร่งรัด (3 วัน) ส่วนผสม : มูล (วัว, เป็ด, หมู) 1 ปี๊บ ขี้เถ้าแกลบ 1 ปี๊บ รำละเอียด 1 ก.ก. น้ำหมักชีวภาพ 50 -100 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
วิธีทำ : นำส่วนผสม มาคลุกเคล้า แล้วนำน้ำหมัก มารดให้ได้ ความชื้น 50% สังเกตได้จากกำมือแล้วแบออกปุ๋ยจะค่อยๆ แตกตัวออก ถ้าใช้ถุงพลาสติกคลุมหรือใช้กระสอบปุ๋ยหมักจะสามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้เร็วขึ้น ปุ๋ยที่จะนำไปใช้ต้องหมดความร้อนก่อน
การใช้ประโยชน์ : แก้ปัญหาดินเสื่อมสภาพในแปลงผักโดยใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 ตันต่อไร่ (40 กระสอบ) หรือใช้น้ำหมักชีวภาพ ฉีดพ่นทางใบ อัตรา 30-40 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 5 วัน หรือใช้ทางดิน อัตรา 100 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ปล่อยตามท้องร่อง

สูตรที่ 4 เครือข่ายข้าว โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน
ส่วนผสม : เช่นเดียวกับสูตรที่ 1
วิธีทำ : เช่นเดียวกับสูตรที่ 1
การใช้ประโยชน์ : ใช้ในนาข้าวดังนี้
1. การป้องกันกำจัดวัชพืช ใช้อัตรา 3 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยปล่อยให้ไหลไปตามทางน้ำไหลเข้านา หรือจะใช้วิธีฉีดพ่น ใช้อัตรา 200 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่
2. ใช้แทนการปุ๋ยเคมี ให้เริ่มตั้งแต่ช่วงเตรียมดิน (ป้องกันกำจัดวัชพืช) และใช้ครั้งต่อไปหลังหว่านข้าว 10 - 15 วัน และใช้ต่อเนื่องทุก 10 วัน รวม 5 ครั้ง ใช้อัตรา 1 ลิตร/น้ำ 200 ลิตร สำหรับพื้นที่ 1 ไร่
3. ลดการใช้ปุ๋ยเคมีครึ่งหนึ่ง โดยงดการใช้ปุ๋ยแต่งหน้า แต่ใช้น้ำหมักชีวภาพแทนปฏิบัติดังนี้คือ ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 อัตรา 15 ก.ก. ต่อไร่ หลังหว่านข้าว 15 - 20 วัน แล้วใช้นำหมักในอัตราเดียวกับข้อ 2
4. ป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ โดยใช้ส่วนผสมของยาฉุน 2 - 3 ก.ก. + หนอนตายยาก 1 ก.ก. + น้ำส้มสายชู 1 ลิตร + เหล้าขาว 1 ขวด + กากน้ำตาล 1 ขวด หมักทิ้งไว้ 2 - 3 วัน แล้วฉีดพ่นในแปลงนาระยะปล่อยน้ำเข้านาช่วงเตรียมดิน ในอัตราส่วน 40 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร

สูตรที่ 5 อาจารย์ชลอ รุ่งกำจัด
ส่วนผสม : เศษซากพืชสด 3 ส่วน (หากเป็นเศษซากสัตว์ใช้ 1 ส่วน) และกากน้ำตาล 1 ส่วน
วิธีทำ : นำมาผสมรวมกันหมักทิ้งไว้ 7 - 15 วัน จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ หากต้องการขยายหัวเชื้อให้ใช้กากนำตาล 1 ก.ก. หัวเชื้อ 1 ลิตร และน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 7 - 15 วัน เช่นกัน
การใช้ประโยชน์ : ฉีดพ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืช ใช้หัวเชื้อน้ำหมัก 2 ช้อนแกง ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 3 วัน หากต้องการลดการระบาดหรือป้องกันกำจัดแมลงจำพวกเพลี้ย ใช้น้ำหมัก 1 ส่วน เหล้าขาว 2 ส่วน น้ำส้มสายชูเข้มข้น 5% 1 ส่วน และกากน้ำตาล 1 ส่วน หมักทิ้งไว้ 1 วัน แล้วใช้น้ำที่ได้จากการหมัก 2 ช้อนแกงผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นป้องกันกำจัดเพลี้ย หรือถ้าต้องการนำมาทำไวน์ ใช้จุลินทรีย์ 1 ลิตร ผสมกับน้ำตาลทรายขาว (ตามแต่ต้องการ) น้ำผลไม้ 3 ก.ก. และผงฟู 3 ช้อนแกง หรือใช้รักษาโรคฝ้า ใช้จุลินทรีย์ มะละกอสุก กล้วยน้ำว้าสุก น้ำผึ้งแท้ อย่างละ 1 ส่วน ผสมรวมกันหมักทิ้งไว้ 1 เดือน นำน้ำที่ได้ทาส่วนที่เป็นฝ้า

สูตรที่ 6 รศ.นพ. บุญเทียม เขมาภิรัตน์
ส่วนผสม : เศษซากสัตว์สด (อาทิ หอย ปลา) 1 ส่วน และน้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน
วิธีทำ : นำมาผสมรวมกันหมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ นำหัวเชื้อที่ได้ มาเจือจางกับน้ำในอัตรา 1 : 1,000
การใช้ประโยชน์ : นำน้ำที่ได้จากการเจือจางไปฉีดพ่นป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ หากต้องการนำไปใช้กับพืชผักผลไม้ให้เปลี่ยนจากเศษซากสัตว์เป็นพืชสดแทน ในอัตรา 3 ต่อ 1 ส่วน

สูตรที่ 7 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลเขาชนกัน
1. การทำหัวเชื้อน้ำหมัก
ส่วนผสม : เศษซากพืช ผัก ผลไม้ 3 ก.ก. + กากน้ำตาล 1 ก.ก. + น้ำ 10 ก.ก.
วิธีทำ : นำมาผสมรวมกันหมักทิ้งไว้ 15 วัน จะได้หัวเชื้อน้ำหมัก
2. การทำน้ำหมักจากหอยเชอรี่
2.1 วิธีที่ 1 ทั้งตัวพร้อมเปลือก
ส่วนผสม : หอยเชอรี่ทั้งตัว 3 ส่วน + กากน้ำตาล 3 ส่วน + หัวเชื้อน้ำหมัก 1 ส่วน
วิธีทำ : นำตัวหอยเชอรี่ทั้งตัวมาทุบหรือบดให้ละเอียด ผสมรวมกับส่วนผสมต่างๆ
2.2 วิธีที่ 2 จากไข่หอยเชอรี่
ส่วนผสม : ไข่หอยเชอรี่ 3 ส่วน + กากน้ำตาล 3 ส่วน + หัวเชื้อน้ำหมัก 1 ส่วน
วิธีทำ : นำไข่หอยเชอรี่ทั้งตัวมาทุบหรือบดให้ละเอียด ผสมรวมกับส่วนผสมต่างๆ
2.3 วิธีที่ 3 จากไข่หอยเชอรี่และพืชสด
ส่วนผสม : ไข่หอยเชอรี่และส่วนของพืชที่อ่อนๆ ยาวไม่เกิน 6 นิ้ว หรือ 1 คืบ 3 ส่วน + กากน้ำตาล 3 ส่วน + หัวเชื้อน้ำหมัก 1 ส่วน
2.4 วิธีที่ 4 จากเนื้อหอยเชอรี่
ส่วนผสม : เนื้อหอยเชอรี่ 3 ส่วน + กากน้ำตาล 2 ส่วน + หัวเชื้อน้ำหมัก 1 ส่วน
วิธีทำ : นำตัวหอยเชอรี่ทั้งตัวจำนวนเท่าใดก็ได้ มาต้มในกระทะ พร้อมทั้งใส่เกลือแกงผสมไปด้วยในจำนวนที่พอเหมาะ เพื่อให้เนื้อหอยเชอรี่แยกจากเปลือกได้ง่ายขึ้น จากนั้นนำเฉพาะเนื้อหอยเชอรี่มาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ให้เข้ากันแล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1
2. 5 วิธีที่ 5 การทำปุ๋ยน้ำหมักจากเนื้อหอยเชอรี่และพืชสด
ส่วนผสม : เนื้อหอยเชอรี่ที่ได้จากวิธีที่ 4 3 ส่วน + กากน้ำตาล 3 ส่วน + พืชสดบดละเอียด 1 ส่วน + หัวเชื้อน้ำหมัก 1 ส่วน
วิธีทำ : นำหอยเชอรี่ที่ได้จากการต้มกับเกลือในวิธีที่ 4 มาบดให้ละเอียด และนำไปผสมกับ น้ำตาลโมลาส และชิ้นส่วนอื่นๆ ของพืชที่อ่อนๆ เหมือนกับวิธีที่ 3 ผสมให้เข้ากัน แล้วนำไปหมักตามขบวนการเช่นเดียวกับวิธีที่ 1